Home
อีก 1 นิสัย ที่ผมอยากเสนอให้คนที่ฟิตภาษาอังกฤษมีกันทุกคน
ในเว็บไทย ไม่ว่าจะเป็นเว็บข่าว หรือเว็บอื่น ๆ ที่ชอบหาเรื่องเบา ๆ แปลก ๆ สนุก มาลง เขามักจะหาเรื่องพวกนั้นจากเว็บต่างประเทศ และแปลหรือสรุปเป็นภาษาไทยให้คนไทยอ่าน เมื่ออ่านแล้วผมขอเสนอว่า ท่านลองไป Search หาเรื่องนั้นในเว็บภาษาอังกฤษที่เป็นต้นเรื่อง วิธีนี้เป็นการฝึกอ่านภาษาอังกฤษที่ง่ายและสนุกครับ
ยกตัวอย่างข่าวนี้ " พนักงานสวนญี่ปุ่น ไม่กล้าเก็บเงินคนต่างชาติ เหตุไม่คล่องอังกฤษ สูญเงิน 25 ล้านเยน "
♣ จากเว็บไทย
→ https://www.sanook.com/news/7559934/
♣ จากเว็บภาษาอังกฤษ
→ https://www.bbc.co.uk/news/world-asia-46030622
สืบเสาะซอกแซกหาความต่างระหว่างคำ เป็นนิสัยแห่งการเรียนรู้
ในทุกภาษา จะมีคำเหมือนกันหรือคล้ายกัน ทั้งในแง่ของความหมาย, อารมณ์ของคำ, การใช้, หรือระดับ สำหรับภาษาไทยเมื่อไปดูในพจนานุกรม ก็ใช่ว่าจะมีคำตอบให้ชัด ๆ เพราะพจนานุกรมก็เพียงให้ความหมายของคำเป็นคำ ๆ แต่ไม่ได้เอาคำนี้ไปเปรียบเทียบคำนั้น คำโน้น คนใช้ต้องเปรียบเทียบเอาเอง และหากท่านลองเปรียบเทียบดู ท่านอาจจะรู้สึกว่า เออ! คำบางคู่หากต้องตอบว่ามันต่างกันชัด ๆ ตรงไหน? บางทีมันก็ตอบยาก หรืออาจจะตอบไม่ได้เอาเลย ผมขอยกตัวอย่างคำข้างล่างนี้ จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔
→ http://www.royin.go.th/dictionary/
คู่ที่ 1 : ขอร้อง กับ ร้องขอ
ถ้าท่านถูกถามอย่างกระทันหัน ท่านตอบได้มั้ยครับว่า 2 คำนี้ต่างกันยังไง
คู่ที่ 2 : ใหญ่ กับ โต
ดูเหมือน 2 คำนี้ความหมายเหมือนกัน แต่การใช้ก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว
คู่ที่ 3 : วัว กับ ควาย
ท่านจะเห็นว่า ความหมายที่ให้ค่อนข้างละเอียด แต่นี่อาจจะเป็นผลที่ราชบัณฑิตย์ถูกแซวไว้เยอะ เพราะพจนานุกรมเล่มก่อน ( พ.ศ. ๒๔๙๓) เล่มที่ผมใช้สมัยเด็ก เขาให้ความหมายไว้อย่างนี้ครับ
คนก็เลยแซวว่า นี่ถ้าฉันไม่รู้จักวัวก็เลยไม่ต้องรู้จักควาย หรือถ้าไม่รู้จักควายก็ไม่ต้องรู้จักวัว โดนแซวอย่างนี้ ในพจนานุกรมเล่มใหม่ท่านราชบัณฑิตย์ก็เลยให้ไว้ซะละเอียดเลย
ที่พูดมาทั้งหมดนี้คือไตเติ้ลครับที่ผมจะโยงเข้าไปหาภาษาอังกฤษ
ผมไปเจอคลิปหนึ่งของ อ.อดัม ชื่อ " Soul กับ Spirit ใช้อย่างไร ??? จิตวิญญาณ ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร ??? "
https://www.youtube.com/watch?v=DF7QbEqnzms
ดูจนจบคลิปแล้วก็เห็นว่า อ. อดัมก็ไม่ได้บอกชัด ๆ ว่า Soul กับ Spirit มันต่างกันอย่างไร อันที่จริงท่านก็คงสามารถอธิบายได้ แต่น่าจะใช้เวลามาก เพราะอย่างที่ผมบอกแล้วว่า ถ้ามันไม่ต่างกันชัด ๆ ด้านความหมาย มันก็อาจจะต่างกันด้านอารมณ์ของคำ, การใช้, หรือระดับของภาษา แต่ของพวกนี้บางทีมันก็อธิบายไม่ได้ง่าย ๆ ซะด้วย
พูดถึงความหมายของคำศัพท์ หรือความแตกต่างของคำ ผมอยากจะให้ท่านติดนิสัยอย่างหนึ่ง คือเมื่อสงสัยก็เข้าไปหาความหมายหรือความต่างจากดิกอังกฤษ-อังกฤษด้วยตัวเองเลย อย่ารออ่านคำอธิบายจากเว็บไทยเลยครับ การสืบเสาะค้นหาด้วยตัวเองนี้ นอกจากช่วยให้เราพัฒนาด้านคำศัพท์ ทั้งช่วยพัฒนาเรื่องการอ่าน การตีความ การสังเกต และอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง ทักษะภาษาอังกฤษของเราจะดีขึ้นโดยไม่รู้ตัวเพราะการสืบเสาะอย่างซอกแซกทำนองนี้
และมี 2 เว็บไซต์ที่ดีมาก ๆ เพียงเราพิมพ์คำศัพท์ลงไป และคลิกดิกเล่มที่เราสนใจเพื่อดูความหมาย (มีดิกให้เลือกคลิกเป็นสิบ ๆ เล่ม) การได้เปรียบเทียบความหมายและประโยคตัวอย่างจากดิกแต่ละเล่ม จะช่วยให้เราเติบโตด้านคำศัพท์
เว็บที่ 1 :
→ https://www.lexilogos.com/english/dictionary.htm
เพียงพิมพ์คำศัพท์, และคลิกปุ่มดิกที่ต้องการ (Enter ใช้ไม่ได้ครับ) ผลจะแสดงใน tab ใหม่
เว็บที่ 2 :
→ https://www.onelook.com/
เพียงพิมพ์คำศัพท์, Enter, และคลิกปุ่มดิกที่ต้องการที่กลางหน้า
ทั้ง 2 เว็บนี้ดีตรงที่ว่า ท่านพิมพ์คำศัพท์ครั้งเดียว, และคลิกดิกที่ต้องการได้เลย, โดยไม่ต้องพิมพ์คำศัพท์ซ้ำ ๆ
เมื่อใช้ไปสักระยะหนึ่ง ท่านก็จะรู้ได้เองว่า ดิกเว็บไหนที่ถูกใจท่าน ท่านก็จะเลือกคลิกดิกเล่มนั้นบ่อย ๆ
แต่ถ้าท่านมีดิกที่ชอบหลายเว็บ การเปรียบเทียบความหมายและประโยคตัวอย่างของหลาย ๆ เว็บ มีประโยชน์ครับ
พิพัฒน์
www.facebook.com/en4th
วิธีฝึกแบบโหด อ่าน นสพ. Bangkok Post ให้เข้าใจเหมือนอ่านไทยรัฐ
ท่านผู้อ่านครับ ผมลุ้นบ่อย ๆ ให้ท่านฝึกอ่านข่าวภาษาอังกฤษ เพราะว่า ข่าวนั้นมักพยายามเขียนให้ง่าย, ใช้ศัพท์สามัญที่ไม่ยากเกินไป, ถ้าอ่านข่าวเข้าใจจะไปอ่านเรื่องอื่น ๆ ก็ไม่ยาก และที่สำคัญข่าวมีหลากหลายประเภท เราสามารถเลือกอ่านประเภทที่ชอบ สรุปก็คือการฝึกอ่านข่าวได้ทั้งความรู้ ข่าวสาร ข้อมูล และได้ reading skill ที่นำไปใช้อ่านเรื่องอื่น ๆ ได้ไม่รู้จบ
ถ้าถามว่าต้องอ่านได้ขนาดไหนถึงจะถือว่า " ใช้ได้ " ผมขอตอบง่าย ๆ อย่างนี้แล้วกันครับ ถ้าสามารถอ่าน นสพ. Bangkok Post ได้รู้เรื่องเป็นส่วนใหญ่ คือจับประเด็นสำคัญได้ ก็ถือว่าใช้ได้ จะอ่านได้ช้ากว่าอ่าน นสพ. ไทยรัฐบ้าง ก็ยังถือว่าใช้ได้
ประสบการณ์ – ภูมิหลัง
ผมเองฝึกอ่าน Bangkok Post ด้วยตัวเองมาตั้งแต่อยู่ ปี. 1 ตั้งแต่สมัยที่โลกนี้ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต มันเป็นการฝึกที่ได้ผล แต่โหดจนผมไม่อยากแนะนำแต่ก็อยากแนะนำ คือทุกวันเมื่อกลับจากมหาวิทยาลัยถึงหอพัก ผมจะนำ Bangkok Post มาอ่านที่โต๊ะ ใช้เชือกฟางผูกเอวตัวเองไว้กับเก้าอี้ให้แน่นหนา และอ่านให้จบแบบรู้เรื่องเป็นส่วนใหญ่อย่างน้อย 1 หน้า โดยจะใช้วิธีเดา เปิดดิก (ทั้งดิกอังกฤษ-ไทย และดิกอังกฤษ-อังกฤษ) พยายามตีความ หรือวิธีไหนก็แล้วแต่ ตั้งเป้าอ่านให้จบ 1 หน้า ห้ามลุก ถ้าลุกก็ยกเก้าอี้ติดก้นไปด้วย ทำอย่างนี้ติดต่อกันได้ครึ่งปีหรือหนึ่งปีนี่แหละ ผลก็คือ มันอ่านรู้เรื่องมากกว่าเดิมเยอะ ผมก็ยังฝึกอ่านเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้ไม่ได้ใช้เชือกฟางผูกเอวแล้ว
และต่อมาก็มีอีกช่วงหนึ่ง ผมไปที่กองบรรณาธิการ นสพ. รายวันฉบับหนึ่ง บอกเขาว่าอยากจะมาขอฝึกงานแปลข่าวที่หน้าข่าวต่างประเทศ เขาบอกว่าที่นี่ไม่รับเด็กฝึกงาน แต่คนที่รับผิดชอบหน้าข่าวต่างประเทศเพิ่งลาออกไป คุณทำได้มั้ยล่ะ ถ้าทำได้ก็จะรับ ผมเองตอนนั้นไม่ได้มีความมั่นใจอะไรนัก แต่ก็ขอทำเพราะอยากได้ตังค์
ช่วงเวลาที่ทำอยู่นี้โหดที่สุด งานที่ทำคือแปลข่าวจากเครื่องเทเล็กซ์ ผมมีฝีมือขนาดเด็กฝึกงาน แต่เนื้องานต้องการมืออาชีพ และก็ห้ามแปลผิด ถ้าผิดมันจะฟ้องทันทีเพราะจะต่างจากข่าวต่างประเทศใน นสพ. ฉบับอื่นๆ งานนี้โหดมากครับ เพราะนอนดึก ตื่นเช้า แปลข่าวบางส่วนและรีบไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ ตอนบ่ายนั่งรถเมล์จากธรรมศาสตร์เข้าโรงพิมพ์เพื่อทำงานต่อ งานหินชิ้นนี้ทำอยู่ประมาณ 2 ปี ได้ฝึกปรืออย่างสุด ๆ เพราะไม่มีใครช่วย ตอนสงสัยก็ไม่มีใครให้ถาม แต่ผลงานแปลห้ามผิด.... ห้ามผิดเด็ดขาด
ดิกเป็นแค่ปากทางการรู้ศัพท์
ผมเคยถามหลายคนว่า จะอ่าน นสพ. ภาษาอังกฤษให้รู้เรื่อง อะไรยากที่สุด ส่วนใหญ่จะตอบว่า ศัพท์ ถ้ารู้ศัพท์ซะอย่างก็อ่านรู้เรื่อง ผมว่าคำตอบนี้ยังไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะว่าเมื่อเราติดศัพท์และใช้ดิกเป็นตัวช่วย มันจะมีงานถึง 3 งานดังนี้
(1) เปิดดิกให้เจอคำนั้น แต่บางคนไม่ชำนาญเปิดช้ากว่าจะเจอ
(2) เมื่อเจอแล้วก็ต้องเลือกคำแปลที่เข้าได้กับเนื้อเรื่อง เพราะศัพท์แต่ละคำมักมีหลายคำแปล
(3) เมื่อแปลประโยคได้ก็อาจจะยังไม่เข้าใจ อาจจะต้องตีความอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวที่ต้องอาศัย background จึงจะเข้าใจ เช่น ข่าวเกี่ยวกับการเงิน เศรษฐกิจ งบประมาณ
ความยากยังไม่หมดแค่นี้ เพราะดิกอังกฤษ-ไทยส่วนใหญ่มีศัพท์หรือความหมายให้ไม่พอใช้ เช่น ศัพท์-สำนวนที่เกิดใหม่, ศัพท์เฉพาะในข่าวประเภทนั้น ๆ, ศัพท์ประเภท idiom – informal – slang – phrasal verb หลายคนไม่เฉลียวด้วยซ้ำว่า ความหมายที่ตัวเองต้องรู้นั้น มันไม่มีอยู่ในดิกอังกฤษ-ไทยเล่มที่ตัวเองกำลังเปิด แต่ก็ดึงมา 1 คำแปลเพื่อเอาไปใช้ ถ้าอย่างนี้มันก็ผิดวันยังค่ำ การจะแก้ปัญหานี้ต้องพึ่งดิกอังกฤษ-อังกฤษ ซึ่งมีคำศัพท์และความหมายพอใช้มากกว่าดิกอังกฤษ-ไทย
ในยุคเน็ตทุกวันนี้มีดิกอังกฤษ-อังกฤษให้เปิดอ่านผ่านเว็บฟรี ๆ ผมจึงย้ำแล้วย้ำอีกว่า ต้องฝึกอ่านดิกอังกฤษ-อังกฤษให้คล่องนะ จะได้ไม่จนตรอกหรือจนแต้มง่าย ๆ
แต่แม้ว่าการเปิดดิกอังกฤษ-อังกฤษ หรือดิกอังกฤษ-ไทยผ่านเว็บจะทำได้ง่าย ๆ และง่ายยิ่งขึ้นเมื่อมี add-on ให้ติดตั้งและคลิกดูได้ทันทีโดยไม่ต้องไปที่เว็บดิก แต่ภาระการเลือกคำแปล/เลือกความหมาย และการตีความ ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม หรือพูดอีกทีก็คือ ถึงรู้ศัพท์ก็ใช่ว่าจะอ่านรู้เรื่อง เพราะดิกให้ความหมายหรือคำแปล แต่ไม่ได้ช่วยเราตีความ
เราจะแก้ปัญหานี้ยังไง ?
เรื่องนี้ ถ้าตอบแบบไม่ให้ผิดเลยก็ต้องตอบว่า ต้องกลับไปอ่านภาษาอังกฤษในระดับที่เราเข้าใจ เช่น ตอนนี้เราเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ปี 1 แต่ทักษะในการอ่านภาษาอังกฤษอยู่ที่ระดับชั้น ป. 1 ก็ต้องยอมถ่อมใจย้อนกลับไปอ่านที่ระดับนั้น เราไม่ต้องกังวลว่าจะต้องใช้เวลามาก เพราะเราจะอ่านได้เร็วกว่าตอนเป็นเด็ก เนื่องจากเราเป็นผู้ใหญ่แล้วและมีประสบการณ์ ถ้าเราฝึกอ่านต่อเนื่อง ทักษะการอ่านของเราจะพาสชั้นจาก ป.1 ขึ้นเป็น ป.2 , ป.3 , ป. 4, ป.5, ป.6 อย่างรวดเร็ว และถ้าอึดใจฝึกต่อ reading skill ก็จะพัฒนาเป็นระดับ ม.1 – 2 – 3 – 4 – 5 - 6 ในไม่ช้า
ท่านอาจจะถามว่า เพราะเหตุใด reading skill ที่เรากลับไปฝึกไต่ต้อย ๆ จากระดับ ป.1-2-3-4-5-6 และจากระดับ ม.1-2-3-4-5-6 มันถึงพัฒนาได้รวดเร็วโดยไม่ต้องมีครูสอน ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า บันไดการฝึกอ่านที่เราก้าวขึ้นนั้นมันไม่ชันแต่ค่อนข้างลาด เราค่อย ๆ เรียนรู้ศัพท์ใหม่ทีละคำ ๆ และโครงสร้างประโยคก็ยากขึ้นแบบอ่อน ๆ เพราะฉะนั้นเราจะได้ซึมซับทั้งศัพท์และแกรมมาร์จากการอ่านโดยไม่รู้ตัว
เรื่องการค่อย ๆ เดิน, ค่อย ๆ ฝึกนี้ ท่านอย่าไปดูถูกมันนะครับว่าไม่ได้ผล ถ้าเราเดินไม่หยุดมันย่อมถึงที่หมายแน่ ๆ ผมเคยไปเที่ยวหอไอเฟลที่ปารีส ฝรั่งเศส และจินตนาการว่า ถ้าไม่มีลิฟต์เราจะขึ้นถึงชั้นบนสุดได้มั้ย ? คิดอย่างนี้แล้วก็ค่อย ๆ เดินตามบันไดขึ้นไป เดินแบบไม่ต้องรีบร้อน เหนื่อยก็พักนิดหน่อยไม่พักนาน มันก็ถึงข้างบนจนได้ จะถึงช้าไปสักนิดก็ไม่เป็นไร การฝึกอ่านไต่ไปเรื่อย ๆ มันไม่ใช่ทางลัดแต่ก็ห้ามลบหลู่แม้ไม่เชื่อ เพราะว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นทางทิพย์ที่หลายคนเผลอดูถูก
ผมเองทุกวันนี้ตอนอ่าน Bangkok Post ก็เลิกใช้เชือกฟางผูกเอวติดเก้าอี้แล้ว และขอสรุปนิทานที่เล่ามาข้างบนว่า ถ้าไม่มีสถานการณ์บังคับให้เราฟิตหนัก เราก็ต้องบังคับตัวเองให้ฟิตหนัก แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไหน ถ้าเรายอมถูกบังคับ เราจะโชคดี เจอความสำเร็จ และเก่ง
ถ้าท่านพร้อมจะฟังคำบอกเล่าภาคปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีฟิตหนักในการอ่าน นสพ. Bangkok Post ก็→ ตามมาเลยครับ
พิพัฒน์
www.facebook.com/en4th
วิธีฝึกแบบโหด อ่าน นสพ. Bangkok Post ให้เข้าใจเหมือนอ่านไทยรัฐ – ภาคปฏิบัติ
ถ้าท่านยังไม่ได้อ่าน→ภาคแรกของบทความนี้ ผมขอแนะนำให้ย้อนไปอ่านก่อน เสร็จแล้วค่อยกลับมาอ่านข้างล่างนี้
ถ้าตอนนี้ท่านตกลงใจแล้วว่า จะอ่าน Bangkok Post ให้รู้เรื่องเหมือนอ่านไทยรัฐให้ได้ ผมก็ขอแนะนำวิธีฝึกจากประสบการณ์ของตัวเอง เป็นวิธีฝึกที่โหด แต่จะช่วยให้อ่านรู้เรื่องในเวลาไม่นานนัก
[1] เราเข้าไปที่เว็บ นสพ. Bangkok Post เลยครับ
→ https://www.bangkokpost.com/
ขอสมมุติว่า ขณะนี้ นสพ. Bangkok Post เปรียบเหมือนฝรั่งที่ท่านฟังเขาพูดได้ไม่เข้าใจสมบูรณ์ คือ มีทั้งเข้าใจมาก, เข้าใจบ้าง, และเข้าใจยาก แต่ท่านก็ตั้งใจว่า (กู)จะฝึกอ่านจนเข้าใจมากในทุกเรื่องที่หยิบขึ้นมาอ่าน ถ้าสัญญากับตัวเองอย่างนี้ ก็อ่านต่อครับ
[2] งานแรกที่ต้องทำก็คือ หาให้เจอเรื่องหรือข่าวที่ท่านชอบหรือสนใจอยากอ่าน
ที่หน้าข่าวของ Bangkok Post → https://www.bangkokpost.com/news
ท่านจะเห็นลิงก์ข่าวหลายปุ่ม ก็เลือกว่าข่าวประเภทไหนที่ท่านสนใจมากที่สุด
เรื่องนี้อย่าถือเป็นเรื่องเล่น ๆ นะครับ ผมถือว่านี่เป็นงานแรกที่สำคัญที่สุด เพราะว่าถ้าเราได้อ่านเนื้อหาที่เราสนใจ สมาธิจะเกิดง่ายและตั้งอยู่นาน และอีกอย่างหนึ่งเรื่องที่เราสนใจนั้นเรามักจะมีพื้นฐานอยู่พอสมควร เมื่ออ่านติดขัดและต้องเดาก็จะเดาได้ง่ายกว่าเรื่องที่ไม่คุ้นเคย
แต่ถ้าท่านตอบว่าไม่รู้เหมือนกันว่าสนใจข่าวอะไรเป็นพิเศษ แถมอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องอีกว่าข่าวลงไว้ว่ายังไง ถ้าท่านตอบอย่างนี้ก็ตกบันไดตั้งแต่ก้าวขั้นแรกแหละครับ ท่านต้องหาให้ได้ และก็อย่าไปวานให้คนอื่นหาให้หรือช่วยแนะนำ ทำอย่างนั้นมันก็ Game Over ! ตั้งแต่คลิก Start
[3] เมื่อหาเจอแล้วว่าชอบข่าวประเภทใดหรือหลายประเภทใดเป็นพิเศษ เวลาเข้าเว็บ Bangkok Post ก็ตรงเข้าไปที่ปุ่มนั้นเลย ไม่ต้องเสียเวลาหามาก แต่ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ท่านต้องอุทิศเวลาให้กับการฝึกอย่างจริงจัง แต่ถ้าท่านบอกว่า งานประจำก็ยุ่งมากพออยู่แล้ว จะเอาเวลาที่ไหนมาฝึกอ่าน ถ้าท่านตอบอย่างนี้ก็ตกบันไดอีกแล้วครับ
ถ้าไม่มีเวลาก็ต้องหาให้ได้ เช่น ตื่นให้เร็วขึ้น, เข้านอนให้ช้าลง, ตัดกิจกรรมแสนรักอื่น ๆ ออกไปบ้าง หรือลดเวลาให้กับเรื่องที่น่าจะลดได้ ถ้าไม่สามารถฝึกช่วงเดียวนาน 1 ชั่วโมง ก็จับเวลาดูให้หลาย ๆ ช่วงเวลาที่ฝึกรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 60 นาที และต้องทำทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการหรือเสาร์-อาทิตย์ หรือวันพระ-ฝนตก ถ้าวันไหนขัดข้องจริง ๆ ไม่ได้ฝึก ก็ต้องไปทำชดเชยในวันอื่น ๆ ข้อนี้ทำได้ไหมครับ
แต่การฝึกไม่ใช่เป็นเรื่องของปริมาณเท่านั้น ต้องฝึกให้ได้คุณภาพด้วย ซึ่งแปลว่าต้องอ่านแล้วรู้เรื่อง และใน 1 วันต้องอ่านให้รู้เรื่องทุกคำทุกประโยคอย่างน้อย 2 ข่าว ท่านเห็นว่านี่เป็นแบบฝึกที่โหดเกินไปหรือไม่ ก็ในเมื่อบางประโยคบางวรรคมันอ่านยังไงก็ไม่รู้เรื่อง แล้วจะบังคับให้รู้เรื่องได้ยังไง
ท่านผู้อ่านครับ ผมบอกแล้วว่าหลักสูตรฝึกที่ผมกำลังแนะนำขณะนี้เป็นหลักสูตรโหดที่ท่านต้องทำให้ได้โดยไม่มีข้อต่อรอง เมื่อโจทย์บอกว่า วันหนึ่ง ๆ ท่านต้องฝึกอ่านให้ได้นานอย่างน้อย 60 นาที โดยอ่านให้จบและรู้เรื่องโดยตลอดอย่างน้อย 2 ข่าว ถ้าหมด 1 ชั่วโมงแล้วยังอ่านสำเร็จไม่ครบ 2 ข่าว ก็ต้องต่อเวลาออกไปให้อ่านรู้เรื่องจบ 2 ข่าวที่ท่านเลือกเมื่อตอนที่เริ่มอ่าน
Tip ที่ผมขอแนะนำเพื่อให้ทำเสร็จตามโจทย์ก็คือ (1)เลือกเรื่องที่ท่านสนใจ,ชอบ, และมีพื้นในเรื่องนั้น มันจะช่วยให้อ่านได้เร็ว จะเดาหรือตีความก็ง่าย (2)เลือกเรื่องที่ไม่ยาวนักจะได้อ่านจบเร็ว ๆ (3)เปิดดิกโดยใช้ add-on ที่ผมจะแนะนำข้างล่างนี้เพื่อช่วยงานอย่างเต็มที่ เพราะเราไม่ต้องเสียเวลาในการเปิดดิก (4)ต้องมีสมาธิพร้อมใช้ชนิดเข้มข้นในขณะที่อ่าน เพราะถ้าอ่านเรื่องยากแต่ไม่มีสมาธิก็คงเดาหรือตีความให้รู้เรื่องได้ยาก (5)ถ้าท่านมีคนใกล้ ๆ หรือคนไกลที่โทรไปถามได้ในประโยคที่ติดขัดสงสัย ก็อนุญาตให้ถาม สรุปก็คือ ท่านจะทำยังไงก็ได้ตามใจชอบ ขอให้สามารถอ่านเข้าใจทุกวรรค ทุกประโยค ในอย่างน้อย 2 ข่าวที่ท่านเลือกอ่านแต่ละวัน
แต่ถ้าจนแล้วจนรอด ท่านก็ยังอ่านบางวรรค-บางประโยคไม่รู้เรื่องอยู่นั่นเอง ให้ท่านจดประโยคนั้นไว้ในเอกสาร WORD หรือจดลงสมุดโน้ตก็ได้ และหลังจากนี้ก็ไปพยายามหาทางทำความเข้าใจ โดยใคร่ครวญขบคิดหรือไต่ถามผู้รู้เพื่อนฝูงหรือถามใครก็ได้ให้กระจ่าง และขอเน้นว่า นี่เป็นการบ้านที่ท่านต้องทำ และเวลาที่ clear เรื่องนี้ในวันหลัง ไม่นับรวมอยู่ใน 1 ชั่วโมง ที่ต้องฝึกอ่านทุกวัน
การฝึกข้อนี้เป็นการฝึกตัวเองให้ฝึกอ่านอย่างมีเป้าหมาย ไม่ใช่ฝึกอ่านอย่างเลื่อนลอย รู้เรื่องก็ช่าง ไม่รู้เรื่องก็ช่าง การฝึกอย่างสบาย ๆ นั้นไม่โหด แต่ทักษะก็หด แต่เราต้องทนฝึกให้ได้ เพราะเรามีเป้าหมายที่แน่ชัด
[4] คราวนี้มาถึงเครื่องทุ่นแรงที่ใช้กับเว็บ นสพ. Bangkok Post โดยเฉพาะ ซึ่งให้ใช้ผ่านเบราว์เซอร์ Google Chrome คือ ให้ท่านติดตั้ง add-on Dictionary 2 ตัวนี้
♥ Add-on ดิก อังกฤษ-ไทย Longdo (ดูคำแปลไทย)→ https://goo.gl/zhGJVg
♥ Add-on ดิก อังกฤษ- อังกฤษ Oxford (ดูความหมายเป็นภาษาอังกฤษ) → https://goo.gl/juYTcP
เวลาติดศัพท์ก็เดาก่อน ถ้าเดาไม่ออกก็ไฮไลต์คำศัพท์, คลิกขวา, และคลิกบรรทัด Longdo หรือ Oxford ผมขอเน้นหลาย ๆ ครั้งว่า ท่านที่ยังไม่คุ้นเคยกับการใช้ add-on dictionary พวกนี้ ขอให้พยายามฝึกใช้มันบ่อย ๆ จนท่านคุ้นเคย มันจะเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ในการฝึกอ่านภาษาอังกฤษ
[5] ต้องคล่องในแกรมมาร์ 5 เรื่อง
การจะอ่านข่าวหรืออ่านเรื่องอะไรก็ตามให้รู้เรื่อง หรือถ้าไม่รู้เรื่องก็สามารถเดาหรือตีความได้ไม่ยากนัก ขอแนะนำให้ศึกษา 5 เรื่องข้างล่างนี้ อย่างจริงจังเพราะมันจำเป็น
- เรื่อง part of speech 8 ชนิด { คลิกดูตัวอย่าง } ถ้าเรามองไม่ออกว่าอะไรเป็นคำ noun, verb, adjective, adverb เราก็จะตีความหน้าที่ของคำ และความหมายของมันได้ยาก
- เรื่องโครงสร้างประโยค ซึ่งมี 3 แบบ ง่าย ๆ คือแบบ simple, compound, complex อันนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องรู้ { คลิกดูตัวอย่าง }
- เรื่อง อนุประโยคและวลีต่าง ๆ (clause คลิกดูตัวอย่าง และ phrase คลิกดูตัวอย่าง )
- เรื่อง past participle และ present particle { คลิกดูตัวอย่าง }
- เรื่อง voice คือ active – passive voice { คลิกดูตัวอย่าง }
เรื่องแกรมมาร์มีอยู่ 5 เรื่องเท่านี้แหละครับ ที่ต้องรู้ให้กระจ่างซะก่อน เพราะมันเกี่ยวข้องกับการตีความเนื้อหาที่อ่าน เพราะฉะนั้น เมื่อท่านจะฝึกอ่าน ขอให้ทุ่มเทความสนใจในเรื่องพวกนี้ก่อน ถ้าละเลยเรื่องนี้ การเดาหรือตีความก็จะไม่เป๊ะ พูดง่าย ๆ ก็คือ ถึงแม้จะรู้ศัพท์ก็แปลได้ไม่เป๊ะ
[6] ผมได้เกริ่นไว้บ้างแล้วว่า ในการอ่านข่าว Bangkok Post ให้เข้าใจเหมือนอ่านไทยรัฐ ศัพท์เป็นเรื่องจำเป็น ผมขอยกบางประเด็นที่สำคัญมาเน้นให้เห็นชัด ๆ ข้างล่างนี้ครับ
X ข่าวบางประเภท ศัพท์ธรรมดามีความหมายเปลี่ยนไป อย่างเช่น ข่าวกีฬา เราจึงอาจจะรู้สึกว่ามันอ่านยาก ทั้ง ๆ ที่มันก็เป็นศัพท์ที่เรารู้จักอยู่ และเราอาจจะเดาไม่ค่อยออก วิธีเดาให้ออกก็คือ ในการฝึกครั้งแรก ๆ ให้เลือกข่าวที่เราคุ้นเคย และเราจะเดาศัพท์ที่มีความหมายแปลก ๆ ได้ง่าย
X ในข่าวนั้น บ่อยครั้งที่ประโยคเขียนยาว ทั้งย่อหน้ามีแค่ประโยคเดียว เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เป๊ะเรื่องโครงสร้างประโยค เราจะงงมองไม่ออกว่า อะไรเป็นประธาน – กริยา – กรรม - ส่วนขยาย เพราะแต่ละส่วนก็มักมีหลายคำเป็นกลุ่ม ๆ อย่างเช่นกลุ่มคำกริยา บางทีมีตั้งกว่า 10 คำ, กลุ่มคำขยายยิ่งเยอะ และบางทีมีทั้งขยายประธาน, ขยายกริยา, ขยายกรรม ภาวะที่การเขียนข่าวมีลักษณะอัดแน่นเช่นนี้ เราอย่าไปมองทีละคำ แต่ต้องมองให้เห็นทั้งกลุ่ม ทีละกลุ่ม ถ้ามองไม่ออก ต่อให้รู้ศัพท์ ศัพท์ก็จะสับสน
X และอีกอย่างหนึ่งที่ต้องตีให้แตกก็คือ ชนิดของคำ หรือ part of speech โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 ประเภทหลัก คือ noun, verb, adjective และ adverb ซึ่งเรื่องนี้สัมพันธ์กับเรื่อง ประธาน – กริยา – กรรม อย่างเช่น เรารู้จัก noun ที่เป็นประธานว่ามันคือองค์กรหนึ่ง และเราก็รู้จัก noun ที่เป็นกรรมว่าเป็นวัตถุอย่างหนึ่ง แต่เราไม่รู้จักศัพท์ที่เป็น verb การรู้เรื่องชนิดของคำจึงมีประโยชน์มาก เพราะถ้าเรามองออกว่า ศัพท์ตัวนี้เป็น verb ต่อให้เราไม่รู้คำแปลหรือความหมาย เราก็พอเดาได้ เพราะมันเป็น verb จึงต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่ไปกันได้กับประธานและกรรม ยกตัวอย่าง ประโยคนี้
Eight arrest warrants were issued Thursday for suspects in the shooting deaths of four civilians in Narathiwat last week.
- กลุ่มประธาน คือ Eight arrest warrants (หมายจับ 8 ใบ)
- กลุ่มกรรม คือ suspects in the shooting deaths of four civilians in Narathiwat last week (ผู้ต้องสงสัยในคดียิงฆ่าพลเรือนสี่คนในจังหวัดนราธิวาสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
- กลุ่มกริยา คือ were issued
อย่างนี้ตามหลักการเดาอย่างที่ว่าไว้ข้างบน หมายจับถูก issue สำหรับ ผู้ต้องสงสัยในคดียิงฆ่าพลเรือนสี่คน ก็เดาได้ง่าย ๆ เลยว่า หมายจับถูก issued ก็คือหมายจับถูกออก หรือออกหมายจับนั่นแหละ นี่คือตัวอย่าง รู้ประธาน รู้กรรม ทำให้เดากริยาได้ แต่ถ้าเราตีไม่แตกว่าตัวไหนเป็น verb ก็ติดแหงกแหละครับ ผมถึงได้เน้นหนักเน้นหนา ต้องมองให้ออก ถ้ามองไม่ออก มันก็เดาไม่ออก ตีความได้ยาก หรือตีได้แต่ไม่เป๊ะ
ในกรณีรู้ประธาน, รู้กริยา และเดากรรม หรือรู้กริยา, รู้กรรม เพื่อเดาประธาน มันก็ทำนองเดียวกันนี้แหละครับ ในการเดาแบบนี้ บ่อยครั้งที่เราไม่สามารถเดาได้ชัด ๆ ว่ามันคืออะไรกันแน่ แต่อย่างน้อยเราจะรู้ทิศทาง เช่น กลุ่มคำหลาย ๆ คำที่เป็นประธานหรือเป็นกรรมนี้ มันน่าจะเป็นคน, เป็นองค์กร, เป็นโครงการ, หรือเป็นวัตถุ หรือกลุ่มคำกริยาที่เป็น action ของประธาน และส่งผลต่อกรรม มันน่าจะเป็น action ที่ใช้มือทำ, หรือใช้ปากพูด, หรือเป็น action ของความคิด มันก็พอมีทางเดาได้ แต่อย่างที่ว่า แม้จะไม่รู้ศัพท์ แต่จากตำแหน่งของคำที่วางไว้ในประโยค เราต้องมองให้ออกว่า คำ ๆ นี้หรือกลุ่มคำนี้มันเป็นประธาน, เป็นกริยา, เป็นกรรม, หรือเป็นส่วนขยาย และขยายอะไร ขยายตัวที่วางอยู่ติด ๆ กัน หรือขยายตัวที่อยู่ข้างหน้า และก็นี่แหละครับที่ผมบอกไว้ข้างบนว่า การรู้แกรมมาร์ 5 เรื่องนั้นเป็นของจำเป็น เปรียบง่าย ๆ อย่างนี้ก็ได้ครับ เราไปเดินเที่ยวศูนย์การค้าแห่งหนึ่งที่ไม่เคยไปมาก่อนเลย ถ้าเรารู้ pattern การจัดส่วนแสดงสินค้าของตึกพาณิชย์พวกนี้เหมือนกับที่เรารู้โครงสร้างประโยค การจะเดินหาห้องน้ำ, หาลิฟต์, หาบันไดเลื่อน, หา food court, หาลานจอดรถ ฯลฯ มันก็เดาได้ไม่ยากนัก แต่ถ้าเราถูกพาไปทิ้งไว้ในป่าง่าย ๆ ที่ไม่ทึบนัก การไม่รู้ pattern ของป่าก็ทำให้ยากที่จะรู้ลู่ทางการเดินออกจากป่า ในทำนองเดียวกัน การไม่รู้ pattern ของภาษา เมื่อเราจะเดาเพื่อหาทางแปล ก็เดาได้ยากเช่นกัน
X มีอีกจุดหนึ่งที่ผมอยากจะชี้เป็นพิเศษ คือในข่าวเขาก็ใช้ศัพท์ตัวที่เรารู้นั่นแหละ แต่เขาอาจจะใช้ในความหมายที่เป็น informal หรือภาษาพูด และความหมายพวกนี้แหละที่ดิกอังกฤษ-ไทย มักไม่มีคำแปลไว้ให้ เราเปิดดูแล้วก็งงอยู่นั่นแหละว่า ทำไมแปลแล้วมันไม่ค่อยจะเข้าท่าเลย ก็นี่แหละครับที่ผมบอกว่าต้องพึ่งดิกอังกฤษ-อังกฤษ ซึ่ง complete กว่าเยอะ
X อีกอย่างหนึ่ง สำนวนหรือบางกลุ่มคำในข่าว เราหาในดิกกี่เล่ม ๆ ก็หาไม่เจอ ถ้าอย่างนี้ก็ใช้วิธีนี้ครับ ให้ไฮไลท์กลุ่มคำนั้น, คลิกขวา และคลิกบรรทัด Search Google for " .... .... .... " กูเกิ้ลจะไปหากลุ่มคำนี้ในเว็บไซต์ต่าง ซึ่งมีทั้งเว็บดิกและเว็บไม่ใช่ดิก คำอธิบายอาจจะมีอยู่ในหลายเว็บ ท่านก็เลือกเอาแล้วกันครับ ว่าจะคลิกอ่านคำอธิบายที่เว็บไหน ผมเองใช้วิธีนี้บ่อยมาก ๆ ตอนอ่านข่าวและสงสัย อ้อ ! ลืมบอกไป นี่ต้องเปิดผ่านเบราว์เซอร์ Google Chrome นะครับ
วิธีการฝึกแบบโหดและคำแนะนำเล็กน้อยข้างต้นนี้ มาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมฝึกอ่าน นสพ. Bangkok Post มากว่า 40 ปี ตั้งแต่โลกนี้ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตและ Bangkok Post ราคาเล่มละ 15 บาท (ถ้าผมจำไม่ผิด) ทุกวันนี้ผมอ่าน Bangkok Post ฟรีผ่านเว็บซึ่งมีตัวช่วยในการอ่านมากมาย แต่ก็ยังเชื่อว่า ถ้าใครต้องการอ่านเก่งแต่ยังฝึกอ่านแบบเหยาะแหยะ ก็คงย่ำอยู่ที่เดิมแหละครับ
การฝึกอ่านข่าวให้มี reading skill ที่ใช้งานได้เหมาะมือ สามารถอ่านอะไรก็ได้ เมื่อไรก็ได้, เหมือนอ่าน นสพ. Bangkok Post ได้เข้าใจพอ ๆ กับอ่านไทยรัฐ, 10 % มาจากการสอน, แต่ 90 % มาจากการเรียน ครูนั้นต่อให้สอนดีเลิศปานใดก็ให้เราได้ไม่เกิน 10 %, อีกกว่า 90 % เราต้องฝึกเอง เรียนเอง รู้เอง ส่วนหนึ่งของปัญหาทักษะภาษาอังกฤษของคนไทย มาจากการตำหนิการสอนหรือผู้สอนหรือระบบการสอนมากเกินไป โดยผู้เรียนไม่ได้ตำหนิการเรียนของตัวเอง ในการทำให้เกิดทักษะนั้น ต่อให้การสอนดีเลิศปานใด การเรียนรู้เกิดขึ้นไม่ได้หรอกครับถ้าไม่มีการเรียน และต้องเรียนแบบจริงจัง หรือฝึกแบบโหด ๆ ทักษะที่ยากจึงจะเกิดขึ้นดังหวัง
พิพัฒน์
www.facebook.com/en4th
ความคิดคำนึงของคน ๆ หนึ่งที่เป็นมะเร็ง
☺เมื่อผมบอกผ่านเว็บ e4thai.com และ Facebook ว่าผมเป็นมะเร็ง หลายท่านส่งข้อความมาแนะนำ, ให้กำลังใจและความหวัง, และอวยพรให้ผ่านโรคร้ายไปได้ ผมขอบคุณทุกท่าน และเชื่อว่าผมได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากเมตตาซึ่งเป็นคาถาที่ท่านอธิษฐานจิตให้
☺คำแนะนำของท่านแบ่งออกเป็นเรื่องทางกายกับเรื่องทางใจ ทางกายนั้นแนะนำการปฏิบัติตัว, อาหาร, การพักผ่อน, สถานรักษาโรค, ยารักษาโรค, ผลิตภัณฑ์กินเสริมภูมิต้านทานของร่างกายและต่อต้านโรค, การหาข้อมูลเพิ่มเติม, การศึกษาทางเลือก ฯลฯ บางเรื่องแนะนำตรงกันซึ่งผมไม่เคยรู้มาก่อน ขอบคุณมาก ๆ ครับ ผมน้อมรับทุกคำแนะนำครับ
☺ส่วนคำแนะนำทางใจ พร้อมกำลังใจ ความหวัง และคำอวยพรนั้น ผมเชื่อว่า หลายท่านพูดออกมาได้ไม่สาสมกับความปรารถนาดีที่ท่านต้องการบอก ผมขอบคุณมาก ๆ ครับ
☺ เรื่องทางกายนั้นผมขอผัดไปคุยวันหลัง วันนี้ผมขอคุยด้วยเรื่องทางใจ มันเป็นความคิดคำนึงของคน ๆ หนึ่งที่เป็นมะเร็ง
☺ เมื่อได้ยินว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ผมคงเหมือนกับบางคนหรือหลายคน สองสิ่งแรกที่คิดถึงคือความเจ็บและความตาย แต่แม้คนที่ไม่ได้เป็นมะเร็งก็คงคิดไม่ต่างกันนัก เมื่อผมแจ้งข่าวจึงได้รับกำลังใจทันที ท่านไม่ได้แค่กด Like เฉย ๆ แต่เขียนให้กำลังใจด้วย กว่า 400 คน จากคนที่ส่วนใหญ่ผมไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า ซาบซึ้งครับ
☺เวลานี้น่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับการทบทวนเรื่องราวของชีวิต อีกแค่ 2 - 3 เดือนผมก็จะอายุเต็ม 60 ถ้าตายตอนนี้ก็เร็วกว่าอายุเฉลี่ยของชายไทยไปประมาณ 11 ปี (อายุเฉลี่ยของชายไทย คือ 71.8 ปี)
☺นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมได้พูดคุยกับความตาย สองครั้งแรกเมื่อผมอายุ 25 ต้องนอนโรงพยาบาล 3 เดือนด้วยโรคดีซ่าน และเพราะความผิดพลาดของการให้ยาสเตียรอยด์ทำให้โคมาเข้าห้องไอซียู ...โชคดีไม่ตาย หลังจากนั้นก็ตกทะเลจากเรือประมงที่ปากน้ำเมืองระนองเวลาสี่ทุ่ม ว่ายน้ำครึ่งชั่วโมงเข้าฝั่งได้ ...โชคดีไม่ตาย ครั้งที่สามวูบเพราะโรคเบาหวานน้ำตาลลด นั่งก้มหน้าหมดสติไปเฉย ๆ ขณะกำลังผูกเชือกหูรองเท้าในห้องพักโรงแรมเพื่อออกไปสมทบกับเพื่อนที่นั่งกินข้าวช้าวรออยู่ เพื่อนเอะใจทำไมไม่ออกไปกินซะที เข้ามาดูเห็นฟุบจึงรีบแงะนำส่งโรงพยาบาล ...โชคดีไม่ตาย
☺ แต่การเฉียดตายทั้ง 3 ครั้งมันมาเร็วไปเร็ว ไม่มีเวลาให้กลัว กังวล หรือเจ็บปวดทรมาน คล้ายกับได้ไปเที่ยวภูเขา ถ้ำ ทะเล เกาะ ที่สวยงาม เที่ยวเสร็จแล้วสิ่งที่เหลือคือความตื่นเต้นและความรู้ที่ไม่มีในตำรา
☺แต่การเป็นมะเร็งครั้งนี้ต่างจาก 3 ครั้งแรก เพราะมะเร็งเป็นโรคที่พยากรณ์ไม่ได้ ผมอาจจะอยู่ไปได้จนถึงอายุ 71.8 ปี หรืออาจจะอยู่ได้อีกแค่ 1.8 เดือน หรือ 1.8 ปี บอกอะไรไม่ได้ทั้งนั้น เพราะผลของการรักษาบอกได้มากสุดก็แค่คาดการณ์
☺ เวลากลางคืนเงียบ ๆ เช่นนี้ ผมนั่งอยู่คนเดียวในห้องที่บ้าน เมื่อย้อนคิดถึงชีวิตแต่หนหลัง ก็ดีใจที่ตัวเองเป็นคนโชคดีอยู่หลายเรื่อง ผมมีครอบครัวที่อบอุ่น มีพ่อแม่ พี่สาว น้องชาย ญาติสนิทที่รักใคร่ ตั้งแต่เด็กจนโตผมกินอิ่มนอนอุ่น อยากเล่นได้เล่น อยากซนได้ซน อยากรังแกน้องชายก็ทำได้นิดหน่อยแค่ถูกแม่ตีพอเจ็บก้น และที่น่าจะถือว่าโชคดีมากคือเป็นเด็กนักเรียนบ้านนอกที่หัวดีมาตั้งแต่เด็ก ได้เข้าธรรมศาสตร์ไม่ขยันเรียนแต่ก็จบ ได้อ่านหนังสือมากมายที่หลักสูตรไม่ได้บังคับให้อ่าน ได้ออกค่ายหลายจังหวัดจน ๆ ที่ไม่มีใครบังคับให้ไป เมื่อเรียนจบก็ได้ทำงานที่ตัวเองรัก คือเป็นพัฒนากรทำงานบ้านนอกนาน 10 ปี และย้ายเข้ากรุงเทพทำงานที่ติดต่อกับเมืองนอกใช้ภาษาอังกฤษประมาณ 20 ปี ได้โฉบไปเดินเหินที่ประเทศอื่น ๆ เกือบ 30 ประเทศ ช่วงท้ายของชีวิตกว่า 10 ปีมาแล้วได้ทำสิ่งที่เป็น labor of love คือเขียนบทความลงบล็อกและเว็บแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับการศึกษาภาษาอังกฤษ เป็นงานที่ทำได้เพลินและมีความสุขอย่างยิ่ง ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษแต่ก็มีหลายคนทนอ่านได้ไม่บ่น และลาออกจากราชการมาทำงานที่ไม่ได้เงินโดยเมียไม่บ่น เธอใจดีบอกว่าอยากทำอะไรก็ทำไป ... ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ถ้ายังไม่นับว่าผมเป็นคนโชคดี ใครล่ะครับถึงจะเป็นคนโชคดี
☺โกวเล้งบอกว่า " งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา " นี่เป็นสัจจวาจาจริง ๆ เลิกงานแล้วยังจะนั่งทู้กินต่อเจ้าของงานมาไล่ก็ไม่ยอมลุก อย่างนี้ก็คงไม่เข้าท่า เป็นมะเร็งคราวนี้ผมไม่รู้ว่ามันเป็นงานเลี้ยงที่ต้องเลิกลาหรือเปล่า แต่ขณะนี้ที่เขายังไม่เก็บโต๊ะและยกอาหารมาเสิร์ฟเรื่อย ๆ ผมก็กินเรื่อย ๆ เหมือนกันแหละ
☺ มี 2 คำปลอบใจที่ผมได้รับบ่อย คือ [1] ไม่ต้องคิดมาก และ [2] คิดในแง่บวกเข้าไว้ ... 2 ข้อนี้จะให้ผมตีความยังไง ?
☺ ไม่ต้องคิดมาก คือไม่ต้องไปคิดอะไรทั้งนั้น ถึงเวลากินก็กิน, ถึงเวลานอนก็นอน, ถึงเวลาไปหาหมอก็ไป ทำอะไรที่ช่วยให้ใจครื้นเครง ส่วนคิดบวกก็คือ คิดว่าเราต้องหาย อาการจะดีขึ้นเรื่อย ๆ อย่าไปหมดหวังว่ากูจะแย่ ต้องเจ็บ ต้องปวด ต้องตาย
☺ ผมยังสงสัยว่า การคิดอย่างนี้ดีจริงหรือ ? จริงอยู่ ผมเชื่อว่าถ้าเราทำใจไม่ให้กังวล จะมีผลต่อร่างกายช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค เพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา หรือถึงขั้นช่วยลดผลข้างเคียงหรืออาการแทรกซ้อนด้วยซ้ำ แต่ถ้า... (เป็น " แต่ถ้า " ที่ใหญ่มาก) แต่ถ้ามันไม่เป็นอย่างนั้นล่ะ ? คือรักษาแล้วมีแต่ทรงกับทรุด, ทรงกับทรุดตลอดเวลา ไอ้ที่หวังว่าไม่เจ็บก็เจ็บ ไม่คิดว่าจะปวดมันก็ปวด และเมื่อนานวันเข้า ที่หวังว่าจะหาย กลับมีท่าทางว่าจะตายซะมากกว่า ไอ้ที่บอกให้คิดบวกเข้าไว้ มันไม่กลายเป็นเพิ่มความผิดหวังรึ?
☺ ในฐานะคนพุทธ ผมเชื่อว่าวิธีการต้อนรับโรคร้ายไม่ใช่การคิดมากหรือคิดน้อย แต่คิดเท่าที่ควรหรือจำเป็นต้องคิด และก็ไม่ใช่การคิดบวก คือคิดว่าต้องไม่ตาย ต้องหายเท่านั้น ก็ในเมื่อปลายทางของโรคมะเร็งมันมี 2 ทาง สมควรหรือที่เราจะหลับหูหลับตา ไม่มองฟ้าไม่มองดิน ยืนยันว่ามีทางหายอยู่ทางเดียว และถ้าถึงวันนั้นที่ความตายมาเยี่ยมถึงเตียง จะไม่กลัวจนร้องไห้รึ
☺ เมื่อตอนกลางวันนี้ ตอนที่กินข้าวกับเพื่อน ผมถามเพื่อนว่า เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เป็นเรื่องธรรมดา แล้วคนเรากลัวอะไรมากที่สุด? เราเห็นต้องกันว่า กลัวเจ็บ ถ้ามันตายไปแบบสงบ ๆ โดยไม่เจ็บก็คงจะดี เรื่องนี้เราคงให้ยาช่วยคลายเจ็บได้บ้าง แต่บางทีมันก็ช่วยไม่ได้มาก หรืออาจจะช่วยไม่ได้เลย
☺ เมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง ผมก็ยอมรับสภาพครับ คือรักษาก็รักษากันไปให้ดีที่สุด แต่ผลการรักษาจะเป็นอย่างไรก็ยอมรับ พูดง่าย ๆ ก็คือ หายก็เอา ตายก็เอา แต่ถ้าก่อนตายต้องเจ็บ เจ็บก็เอา แม้ว่าถ้าเลือกได้ ผมอยากหาย แต่ถ้าต้องตาย ก็อยากเลือกตายโดยไม่เจ็บ แต่ถ้ามันเลือกไม่ได้ ก็เอาทั้งนั้นแหละครับ
☺ ท่านผู้อ่านเชื่อเรื่องการเกิดใหม่และกฎแห่งกรรมไหมครับ ผมไม่มีญาณให้รู้เรื่องนี้ แต่ผมเชื่อทั้ง 2 เรื่องนี้โดยไม่เคลือบแคลงสงสัยแม้แต่นิดเดียว ทำไมผมถึงเชื่อ ตอบไม่ได้เหมือนกันครับ น่าจะเป็นเพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ไว้ แม้พระเถระบางท่านจะบอกว่าเราไม่สามารถฟันธงลงไปตามตัวอักษร แต่ผมเชื่อว่าเรื่องนี้เราฟันธงได้ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ได้เลย นอกจากนี้เรื่องราวการสั่งสอนบอกเล่าของพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบผู้รู้ผ่านญาณ ก็ยืนยันเรื่องนี้ บางคนอาจจะพูดว่าพระคิดเอาเอง ท่านอาจจะเห็นจริง แต่สิ่งที่เห็นไม่ใช่ของจริง แต่ผมก็ยังเชื่ออย่างเดิมว่า ท่านเห็นจริง และสิ่งที่ท่านเห็นก็เป็นของจริง นอกจากนี้จากบันทึกการบอกเล่าของทั้งไทยและฝรั่งที่ไม่จำเป็นต้องโกหก และงานวิจัยของฝรั่งที่ทำอย่างเป็นวิชาการ ก็ยืนยันเรื่องนี้เป็นอย่างดี มีแต่คนที่ปิดหูปิดตาเท่านั้นแหละครับที่ยืนยันว่าการเกิดใหม่ไม่มี ถ้ายังลืมตาอยู่แต่ไม่เชื่อก็ต้องแค่พูดว่าไม่รู้ ผมเองไม่รู้แต่เชื่อ และถ้ามีวันที่ผมใกล้ตายจริง ๆ ก่อนแม่ ผมจะไม่พูดอย่างที่ได้ยินบางคนพูดบ่อย ๆ " ถ้าชาติหน้ามีจริง .... " แต่ผมจะพูดว่า " ชาติหน้าขอมาเกิดเป็นลูกแม่อีก " โดยไม่มีคำว่า " ถ้าชาติหน้ามีจริง "
☺ แต่สิ่งที่แยกไม่ออกจากเรื่องการเกิดใหม่ก็คือเรื่องกฎแห่งกรรม ซึ่งผมก็เชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยเช่นกัน เมื่อทบทวนตัวเองโดยเอามาตรฐานชาวพุทธเรื่อง " ทาน - ศีล - ภาวนา " มาจับ ผมก็ทำ 3 เรื่องนี้ได้ไม่ดีนัก แต่คิดว่าก็ไม่ถึงกับแย่ ภาษาอีสานเรียกว่าพอกะเทินนั่นแหละครับ คือเรื่องทาน เนื่องจากผมไม่มีกะตังค์เยอะ ก็ได้อาศัยเขียนบทความลงเว็บนี่แหละครับเป็นวิทยาทาน คือทำไปอย่างคนไม่มีเงินและไม่มีความรู้มาก เก็บความรู้จากที่นั่นที่นี่มาฝากท่านผู้อ่าน ไม่ได้ปรุงอาหารเอง เป็นได้แค่คนเสิร์ฟก็เอาแหละครับ, ส่วนเรื่องศีล ผมออกจะภูมิใจว่า การใช้ชีวิตและการทำงานไม่ได้ทำผิดศีลใหญ่โต ที่เป็นการเบียดเบียน เอาเปรียบ ทำร้ายผู้คน รับราชการอย่างสุจริตและไม่คอรัปชั่น เมื่อนึกย้อนหลังก็ไม่มีอะไรที่รู้สึก guilty, ส่วนเรื่องภาวนา ก็ทำได้พอกะเทิน นั่งสมาธิก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่ค่อยจะนิ่ง แต่เมื่อมีอารมณ์มากระทบใจก็พยายามมีสติ ทำได้ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ก็พยายามอยู่ ถ้าต้องให้เกรดตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ผมก็ให้เกรด C น่าจะพอสอบผ่าน
☺ ด้วยความที่ผมเชื่อเรื่องชาติหน้าอย่างแน่นแฟ้น ทำให้ผมรู้สึกว่า ผมน่าจะเตรียมตัวตายเพื่อเกิดชาติหน้าด้วย คือผมมาคิดง่าย ๆ ว่า เมื่อผมมาเกิดที่ประเทศไทยนี้อีกครั้งในชาติหน้า พ.ศ. นั้นสังคมไทยจะเป็นอย่างไรนะ ? สิ่งที่ผมหวาดกลัวที่สุด ก็คือการเกิดมาในสังคมที่เต็มไปด้วยมิจฉาทิฐิ เพราะเมื่อมองดูสังคมทุกวันนี้เห็นได้ชัดเลยว่า สิ่งที่กล่อมเกลาแวดล้อมให้เด็ก ๆ มีมิจฉาทิฐิมีอยู่ท่วมสังคม และใน generation ถัดไปที่ผมเกิดมา ผมจะมีภูมิคุ้มกันป้องกันการติดโรคมิจฉาทิฐิมั้ยเนี่ย มันน่ากลัวจริง ๆ เพราะเท่าที่เห็นก็เด่นชัดอยู่แล้วว่า คนมากมายทุกวันนี้มีมิจฉาทิฐิ แต่เขาถูกสังคมกล่อมโดยไม่รู้ตัว เขาทำผิดโดยไม่รู้ตัว หรือเป็นทุกข์โดยไม่รู้ตัว และ " คนดี " ก็ตำหนิเขา นี่ขนาด พ.ศ. นี้สังคมไทยยังเป็นอย่างนี้ และหลายปีข้างหน้าจะรอดสันดอนหรือ
☺ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึงพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์อินเดียรุ่นเดียวกับพระพุทธเจ้า สมัยยังทรงเป็นราชกุมาร เคยทรงตั้งความปรารถนาทางธรรมไว้ 3 ประการ คือ (1) ขอให้ได้เข้าไปนั่งใกล้พระอรหันต์ (2)ขอให้พระอรหันต์นั้นทรงแสดงธรรมโปรด และ (3) ขอให้ได้รู้ธรรมของพระอรหันต์นั้น และความปรารถนาของพระองค์ก็บรรลุเมื่อได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ผมเองก็ตั้งความปรารถนาทางธรรมไว้เหมือนกัน คือ (1) เกิดขาติหน้าขอให้มีชีวิตที่ใกล้พระรัตนตรัย (2) ได้ฟังธรรมจากพระแท้ตั้งแต่อายุยังน้อย และ (3) ขอให้ได้เข้าใจธรรมะนั้น พอประคับประคองจิตใจได้ไม่ให้มีมิจฉาทิฐิ
☺ พอรู้ตัวว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ผมเลยอธิษฐานจิตเลยว่า จิตใจต่อจากนี้จะอุทิศให้กับการศึกษาอริยสัจ มันน่าแปลกมั้ยล่ะที่ความทุกข์ซึ่งเป็นความจริงข้อ 1 นั้น พระพุทธเจ้าจัดให้เป็น " อริยะ " คือสิ่งประเสริฐ อย่างเช่น ความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวด ที่อาจจะยาวนานหลายปีจากการเป็นโรคมะเร็ง มันเป็น " อริยะ " ได้ยังไง ผมบอกตัวเองว่า ผมยอม ผมจะใช้ชีวิตอย่างมีสติ พยายามทำใจให้เป็น " ประภัสสร " รู้เห็นการเกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - ดับไป ในแต่ละขณะของความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้น ด้วยใจที่สงบ ยอมรับ และยิ้มแย้ม ต้อนรับความทุกข์ด้วยความสุขและสันติในใจ นี่คือการเข้า intensive training course ผมเชื่อว่าการอุทิศใจเช่นนี้ จะช่วยให้ผมมีสัมมาทิฐิเพิ่มมากขึ้นอีกหน่อย และถ้าผมตาย ผมหวังว่าสัมมาทิฐิที่ได้รับก่อนตาย จะติดตัวผมไปเกิดในชาติหน้า และช่วยให้มีจิตใจที่ไม่เพี้ยนในชาติโน้น
☺ ณ นาทีนี้ อาการปัจจุบันของผมก็คือ แน่นท้อง เพลียบ้าง และเบื่ออาหารนิดหน่อย นอนหลับได้แต่ต้องนอนหงาย ไม่รู้ว่าวันต่อ ๆ ไปจะเป็นอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าตัวเองมีใจที่บึกบึน ยิ้มแย้มและสงบ พร้อมที่จะเผชิญกับความทุกข์ด้วยจิตใจที่ไม่ห่อเหี่ยวบึ้งตึง
พิพัฒน์
www.facebook.com/en4th
แนะนำเว็บ english-online.org.uk
♣ ที่เว็บนี้ → https://www.english-online.org.uk/
✳ มีหลายเรื่องให้ฝึกภาษาอังกฤษ เชื่อว่า น่าจะมีบางเรื่่องที่ท่านชอบ, ใช้ประโยชน์ได้ หรือนำไปฝากลูกหลาน ลูกศิษย์ได้
✳ บางท่านไม่คุ้นเคยกับเว็บฝรั่งพวกนี้, คือมันไปต่อได้ แต่ไม่รู้ว่าจะคลิกตรงไหน, เลยไปไม่เป็น? ขอให้ใจเย็น ๆ ครับ กวาดตาดูทั่ว ๆ, ลองคลิกปุ่มนั้นปุ่มนี้ เดี๋ยวเดียวก็คล่องครับ
♦ ท่านผู้อ่านครับ เว็บฝึกภาษาอังกฤษพวกนี้มีเยอะ, เยอะจัดจนเราดูไม่หวาดไม่ไหว แต่เรื่องง่าย ๆ ที่ผมอยากแนะเพื่อทุ่นเวลาก็คือ เนื่องจากเราคงไม่มีเวลาเข้าไปสำรวจทุกแง่ทุกมุมของเว็บ, วิธีลัด-สั้น-ตรง ที่สุด คือ (1)ดูเมนูหรือลิงก์ที่เขาโชว์ใน Homepage ของเว็บ และคลิกปุ่มที่เราสนใจจะฝึกมากที่สุด (2)ถ้าเว็บมีช่อง Search ก็พิมพ์คำค้นเรื่องที่เราสนใจ, ถ้าไม่มีก็คลิกติดตั้ง Add-on " Search the current site " [→ https://goo.gl/VSsEzo ] และขณะที่อยู่ที่หน้าเว็บนั้น ให้คลิกปุ่มรูปแว่นขยายท้าย URL Address และพิมพ์คำค้นที่ต้องการลงไป, และเมื่อเจอเรื่องที่ต้องการแล้ว แต่ยังไม่มีเวลาพอจะศึกษาจนจบ ก็คลิก Bookmarks ไว้ก่อน ผมขอแนะนำสั้น ๆ อย่างนี้แหละครับ เพราะของฟรีและดี ๆ มันมีเยอะจัด
♥ การที่ 【1】 ขาดแคลน - ไม่มีอะไรจะให้หยิบขึ้นมาศึกษา หรือ 【2】 เปี่ยมล้น - มีอะไรเยอะเหลือเกินให้เลือก แต่เลือกไม่ถูกจนไม่ได้หยิบสักอย่าง
【1】 กับ 【2】 นี่ไม่ต่างกันเลย เพราะฉะนั้น ต้องหยิบสักอย่างครับ หยิบขึ้นมาแล้วกินไม่หมดถ้วย ได้ชิมสักครึ่งถ้วย ก็ยังดีครับ
More Articles...
- ยายถามเป็นภาษาอีสาน หลานสปีกอิงลิชตอบ
- รายงานผลการวินิจฉัยโรคครับ
- รายงานผลการเจ็บป่วยครับ
- เป้าหมายแรกของท่าน ในการฝึกภาษาอังกฤษ คืออะไร ?
- ♥ ผมกลับบ้านแล้วครับ ...
- ♥ ขอลางาน สัก 7 วันครับ ♥
- เมื่อไม่ " แน่ใจ, มั่นใจ " ในความหมายของคำศัพท์, ดิก อังกฤษ-อังกฤษ ช่วยได้
- ผมเป็นกำลังใจให้ทุกท่านเสมอครับ
- เว็บฝรั่งดี ๆ มีมากมาย เหมือนขุมทรัพย์รอให้เราเข้าไปขุด
- หนังสืออ่านนอกเวลาของเว็บ e4thai.com เพิ่มเป็น 240 เล่มแล้วครับ
- ศัพท์ก็เหมือนคน ต้องรู้จักไปตามลำดับ : เห็นหน้า,ทักทาย,พูดคุย,ไปมาหาสู่
- ครูหนุ่มสอนเทคนิค 3 ข้อในการเรียนภาษาอังกฤษให้เข้าใจ-จำได้
- แม้ไม่เก่งอังกฤษก็สอนลูกหลานตัวเล็ก ๆ ของตัวเองได้
- eBook แกรมมาร์ที่ผมชอบสุด ๆ
- ไต้หวันเตรียมยก ’ภาษาอังกฤษ’ เป็นภาษาทางการ
- ♥ จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบครับ
- เมื่อรักจะเก่งอังกฤษ อย่าพูดอย่างนี้
- ต้นเดือนกันยาฯ ผมจะผ่าตัดหมอนรองกระดูกเคลื่อน
- ขอพูดอีกครั้งเรื่องคนไทยกับภาษาอังกฤษ
- เริ่มดู บางย่อหน้า/บางหน้า/บางบท ที่สนใจก่อน